บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) หรือชื่อภาษาไทย บุรุษ เกษกรรณ คือศิลปิน นักประพันธ์เพลง และนักเปียโน ไทยร่วมสมัยชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ก่อตั้ง "วงดนตรีฟองน้ำ" (Fong Naam Ensemble) ช่วงปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) เป็นวงดนตรีที่ผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะเทคนิคการประพันธ์ดนตรีในแบบศตวรรษที่ 20 ผสมผสานในรูปแบบที่แตกต่าง
บรูซ แกสตัน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ และได้รับการส่งเสริมจากครอบครัวเป็นอย่างดี โดยมีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลัก ต่อมาเมื่อถึงวัยเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจเรียนต่อในด้านดนตรี และเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่ University of Southern California จนกระทั่งจบปริญญาโทในปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) ซึ่งในช่วงเวลานั้นตรงกับเหตุการณ์สงครามเวียดนามท่ามกลางความขัดแย้งที่มาก และบรูซถูกเกณฑ์เพื่อเข้าร่วมด้วย แต่เขาเลือกที่จะมาเป็นครูสอนดนตรีในประเทศไทยเพื่อให้ความรู้ในด้านที่ตนเองถนัดโดยไม่ทำร้ายใคร
เขาเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยโดยเริ่มจากการเป็นครูสอนดนตรีโรงเรียนผดุงราษฎร์ที่จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้การดูแลของคริสตจักร แต่นับมีความยากลำบากมากในการสอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์และอื่น ๆ หลังจากนั้นอีก 6 เดือนเขาได้ย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ และได้สอนดนตรีให้วิทยาลัยพายัพ จนกระทั้งได้เปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรีอย่างเป็นทางการขึ้น และเขาได้เป็นอาจารย์ผู้สอนหลักสูตรดนตรีรุ่นแรกอีกด้วย ในวัยประมาณ 22 ปี
จุดเริ่มต้นของหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นที่หอพักอาจารย์ผู้สอนวิทยาลัยพายัพที่อยู่ติดกับป่าช้า ทำให้เขาได้ยินเสียงการบรรเลงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์เป็นประจำจากงานเผาศพในป่าช้า จนสิ่งเหล่านี้เริ่มกลายเป็นความสนใจและเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มทดลองเรียนดนตรีไทยกับชาวบ้านท้องถิ่น หลังจากนั้นเขาจำเป็นต้องกลับบ้านเกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริการาวสองปี แต่เสียงดนตรีไทยยังคงดังก้องเรียกร้องในหัวใจเสมอมา จนต้องกลับมาดำรงชีวิตในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกครั้ง บรูซจึงเริ่มเรียนรู้เสียงของดนตรีชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากขึ้น และเหมือนเป็นโชคชะตา เพราะ ณ. เวลานั้นกรมศิลปากรได้เปิดวิทยาลัยนาฏศิลปวิทยาเขตเชียงใหม่ ทำให้ได้เริ่มเรียนดนตรีไทยกับ"ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ" และ "ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ"
"เหตุการณ์สำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยร่วมสมัย"
สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งเขาได้มีโอกาสพบกับ "ครูบุญยงค์ เกตุคง" นักระนาดชั้นครูระดับตำนานของประเทศไทย และยังเป็นผู้ประพันธ์เพลง "ชเวดากอง" ที่โด่งดัง เขามีความประทับใจในเสียงดนตรีที่ครูบุญยงค์บรรเลงและแนวคิดต่าง ๆ มากมาย จนกระทั้งขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ใน "วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพ" เขาได้ฝึกฝนทุ่มเทการบรรเลงดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ ในขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่ละทิ้งองค์ความรู้เดิม แนวคิดการประพันธ์เพลงแบบตะวันตกที่เคยร่ำเรียนมา อาทิ การนำเสียงรอบตัวมาผสานกับบทประพันธ์แบบ ชาร์ล ไอวฟ์ (Charles Ives) หรือ การทดลองเสียงที่แตกต่างจากเดิมแบบ จอห์น เคจ (John Cage) และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่จะนำไปสู่การผสมผสานของสองวัฒนธรรมดนตรีโลกตะวันตกและโลกดนตรีไทยที่ใครหลายคนเรียกว่า "ดนตรีไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary Music)"
ในช่วงปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ได้ก่อตั้ง "วงฟองน้ำ" ขึ้นโดยมี "ครูบุญยงค์ เกตุคง", "บรูซ แกสตัน" และ "อาจารย์ จิรพรรณ อังศวานนท์" ร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง โดยได้สร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีไทยร่วมสมัยแก่ประเทศไทย และยังได้นำไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้งจนได้รับชื่อเสียงในวงกว้างในประเทศและนอกประเทศ
ผลงานสำคัญที่เป็นที่จดจำและแสดงถึงศักยภาพของ บรูซ แกสตัน คือบทเพลง "เจ้าพระยาคอนแชร์โต" ในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1928) ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกในงานฉลองกรุงเทพมหานคร ครบ 200 ปี โดยเป็นการนำเสนอแนวทางใหม่ของดนตรีไทย ที่ผสมผสานกับดนตรีไฟฟ้า การจัดวางของวงที่สร้างมิติของเสียงที่แตกต่าง จังหวะที่ไม่ปกติ ในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างกัน บทเพลงนี้ใช้วาทยกร 3 คนสำหรับ 3 วง ออร์เคสตรา นอกจากนี้ยังมีผลงานสำหรับ Prepared Piano, ระนาดทุ้ม และ อิเล็กทรอนิกส์ ชื่อ"อาหนู" จัดแสดงครั้งแรกในงานรำลึก จอห์น เคจ ณ เมืองนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1928)
กาลเวลาผ่านไป อาจารย์ บรูซ แกสตัน ได้ฝากผลงานไว้อีกมากมาย และมีลูกศิษย์ที่ต่อมาเป็นบุคคลสำคัญต่อวงการดนตรีประเทศไทย อาทิ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร, จิระเดช เสตะพันธุ, ไกวัล กุลวัฒโนทัย, อานันท์ นาคคง, บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ, ดำริห์ บรรณวิทยกิจ, วาณิช โปตะวณิช และอีกมากมายในช่วงเวลาที่เคยเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาดนตรีการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยลูกศิษย์กลุ่มนี้ยังคงขับเคลื่อนพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษาดนตรี การแสดง และการประพันธ์เพลง ทำให้ประเทศไทยยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีลูกศิษย์ต่อมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้อาจารย์ บรูซ ยังเคยทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปิน ทรงหรรษา วาสนารุ่งเรือง ในอัลบั้ม พาราเซตามอล สังกัด Stone Entertainment ในแนวเพลง Soul R&B ช่วงปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) อีกด้วย
นอกจากนี้อาจารย์ “บรูซ แกสตัน” ยังได้รับ รางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552
จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
"...ศิลปะ เสมอดั่งฟองน้ำ งดงามกระจ่างสว่างใส เกิดขึ้นในบัดดล
ให้เราได้สัมผัสอนิจจลักษณะของความงาม ดำรงอยู่ชั่วครู่ยาว แล้วดับสูญ..."
บุรุษ เกษกรรณ (พ.ศ. 2490 - 2564)
"...Art as a bubble - the transparent beauty of which is most clearly identified
with a short, fleeting moment of existence - beauty which points toward impermanence as the condition of all things..."
Bruce Gaston (1947 - 2021)
"ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของอาจารย์และกราบลาครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ"
อาจารย์ Bruce Gaston หรือ บุรุษ เกษกรรณ ได้จากไปอย่างสงบในเช้าวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคนและใกล้ชิดในการสูญเสียครั้งนี้
อ่านคลาสสิก
อ้างอิงข้อมูล bangkoklifenews.com
Comments