จุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1913 คงไม่มีคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกไหนในโลก ที่ได้กลายเป็นเรื่องโจษจัน พูดถึงกันเป็นวงกว้าง ถึงขนาดได้ลงหนังสือพิมพ์แบบไม่ต้องจ่ายเงิน กลายเป็นเรื่องที่เล่าลือกันอื้ออึง และตำนานคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกก็ได้เปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่โหมดประวัติดนตรีคลาสสิกเป็นที่เรียบร้อย โดยหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อย่างทาง Die Zeit ได้มีการวาดภาพความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตนี้อีกด้วย
สำหรับตำนานคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกนั้นก็คือ "The upcoming Schoenberg concert" ถูกจัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1913 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งวาทยกรในคอนเสิร์ตมีนามว่า อาร์โนลด์ เชิร์นเบิร์ก (Arnold Schönberg / 1874-1951)
อาร์โนลด์ เชิร์นเบิร์ก คือใคร?
ตัวของ อาร์โนลด์ เชิร์นเบิร์ก ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าคนสำคัญของโลกในปัจจุบัน โดยในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1913 ชื่อเสียงของเขาอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่ แต่ในกลุ่มนักประพันธ์เพลงและนักดนตรีจะทราบกันว่าตัวของ อาร์โนลด์เชิร์นเบิร์ก ได้ประพันธ์เพลงที่ละทิ้งความดั้งเดิมของดนตรีในช่วงยุคโรแมนติก และได้ก้าวผ่านไปสู่ดนตรีลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า เอโทนอล (Atonal Music)
นอกเหนือจากตัวของ อาร์โนลด์เชิร์นเบิร์ก ก็ยังมีเพื่อนสมาชิกอีก 2 ท่าน ที่อยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกับเขา และฝีมือก็จัดอยู่ระดับเดียวใกล้เคียงกัน ได้แก่ อัลบัน แบร์ก (Alban Berg / 1885-1935) และอันทวน ไวเบิร์น (Anton Webern / 1883-1945) ซึ่งทั้งสองท่านนี้ก็เกี่ยวข้องกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย
Alban Berg Anton Webern
กลับมาที่คอนเสิร์ต "The upcoming Schoenberg concert" จุดเริ่มต้นของความโจษจันในดนตรีคลาสสิกที่เกิดขึ้น ถูกจัดแสดงที่ Wiener Musikverein กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยโปรแกรมเพลงที่ใช้ในการแสดงมีทั้งหมด 6 บทประพันธ์เพลง ได้แก่
Webern: Six Pieces for Orchestra, Op. 6
Zemlinsky: Four Orchestral Songs on Poems by Materlinck (later issued as his Op. 13, Nos. 1, 2, 3, 5)
Schoenberg: Chamber Symphony No. 1, Op. 9
Mahler: Kindertotenlieder (ไม่ได้ทำการแสดง)
จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น บทประพันธ์เพลงสุดท้ายในคอนเสิร์ตที่สามารถบรรเลงได้ก็คือ บทเพลง Lieder, Op. 4, No. 3 ก่อนความวุ่นวายทั้งหมดจะเกิดขึ้น ซึ่งทางผู้ชมมีการตะโกนถึงตัวนักประพันธ์อย่างทาง อัลบัน แบร์ก ว่าตัวของเขาควรไปอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวช
เมื่อมีผู้ชมตะโกนต่อว่านักประพันธ์เจ้าของบทเพลง ตัวของวาทยกรอย่างทาง อาร์โนลด์ เชิร์นเบิร์ก ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยตัวเขาได้ให้วงดนตรีหยุดเล่นเพลงทันที และได้หันไปตะโกนด่ากับผู้ชมแทนที่ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ประจำคอนเสิร์ตนำตัวผู้ก่อปัญหาออกจากการแสดงในครั้งนี้
ความวุ่นวายเหมือนจะหยุดไม่อยู่แล้ว เริ่มมีผู้ชมท้าตีท้าต่อยกับตัวของ อาร์โนลด์ เชิร์นเบิร์ก ตลอดจนมีนักประพันธ์ชื่อว่า ออสการ์ สตรอส (Oscar Straus) ได้ปีนขึ้นไปบนที่นั่งเพื่อจะต่อยผู้จัดคอนเสิร์ตอย่างทาง แอร์ฮาร์ท บุชเบค (Erhard Buschbeck) เรียกว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ชมทั่วไปเท่านั้น ยังรวมไปถึงนักประพันธ์เพลงอนุรักษนิยมบางคนที่รับไม่ได้กับบทประพันธ์ Lieder, Op. 4, No. 3 อีกด้วย
หลังจากคอนเสิร์ตได้ยุติลง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับผู้ก่อเหตุสร้างความวุ่นวายในงานได้ 4 คน และการทำร้ายร่างกายของระหว่างผู้จัดงานกับนักประพันธ์เพลงอนุรักษนิยม มีการดำเนินคดีกันเป็นเรื่องราว
ทั้งนี้ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ต ส่งผลกับ อัลบัน แบร์ก อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งบทเพลงเจ้าปัญหา Lieder, Op. 4, No. 3 ไม่มีการนำกลับมาเล่นคอนเสิร์ตอีกเลยจนถึงในปี ค.ศ. 1952 ให้หลังถึง 39 ปี ถึงได้มีการนำบทเพลงมาเล่นในคอนเสิร์ตอีกครั้ง เรียกได้ว่ากว่าจะได้นำบทเพลงมาทำการแสดงอีกครั้ง ตัวนักประพันธ์ก็ได้เสียชีวิตไปก่อนแล้วอีกด้วย สำหรับโน้ตเพลง Lieder, Op. 4, No. 3 ก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์แต่อย่างใด จนถึงในปี ค.ศ. 1966 ถึงมีการตีพิมพ์โน้ตเพลงนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามอยากแนะนำให้คุณลองฟังบทเพลงโปรแกรมคอนเสิร์ต "The upcoming Schoenberg concert" เพื่อซึมซับความรู้สึกของผู้ชมในเวลานั้น คุณอาจเข้าใจความรู้สึกของผู้ชมในงานที่สร้างความวุ่นวาย หรือคุณอาจเข้าใจผู้ประพันธ์เพลง ว่ามันไม่ควรเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น
มันฟังดูเป็นเรื่องน่าเศร้าพอสมควร เมื่อผลงานเพลงมีความแตกต่างไปจากกรอบประเพณีดั้งเดิม มันได้กลายเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ของบางกลุ่มคน จนสุดท้ายเกิดเป็นเรื่องราววุ่นวายจนกลายเป็นตำนานให้กล่าวถึง สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดก็คือตัวของ อัลบัน แบร์ก มีชีวิตที่ไม่ยืนยาวพอที่จะได้ฟังบทเพลง Lieder, Op. 4, No. 3 ที่เขาแต่งขึ้น ถูกบรรเลงจากงานคอนเสิร์ตไหนสักงาน ที่ไหนสักที่ ในตอนที่เขายังมีลมหายใจอยู่..
Comments