ศาลฝรั่งเศสเมือง Nanterre ได้ตัดสินให้ Maurice Ravel (มอริส ราแวล) นักประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส เป็นผู้แต่งเพลง Boléro แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหาของทายาท Alexandre Benois (อเล็กซานเดร เบอนัวส์) ที่ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์การเป็นผู้ร่วมแต่งเพลง
ขนาด Ravel ตายไปเกือบจะ 100 ปี ไม่น่าเชื่อว่ายังมีประเด็นให้พูดถึง ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากเพลง Boléro ที่เป็นหนึ่งในผลงานของเขาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เพลงนี้ถูกเล่นครั้งแรกที่ Paris Opera ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1928
ทั้งนี้มีคนจำนวนมากเชื่อว่า Rave ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทเพลงนี้สักเท่าไหร่ เนื่องจากมันเป็นงานทดลองทางด้านดนตรี หากคุณได้ฟังเพลงจะเห็นถึงความเรียบง่ายของดนตรี ท่วงทำนองที่ซ้ำซากไปมา การไม่มีเปลี่ยนแปลงเมโลดี้ ซึ่งมันขัดกับรูปแบบการประพันธ์เพลงของเขาโดยสิ้นเชิง
แม้จะบอกว่าบทประพันธ์เพลง Boléro เป็นผลงานทดลองของเขา แต่สุดท้ายเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี้คือผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนสุดท้ายเกิดเป็นเรื่องราวฟ้องร้องขึ้นศาลในเรื่องเครดิต ลิขสิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2018 จากทายาทของ Benois นั้นเอง
อย่างไรก็ตามศาลเมือง Nanterre ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า Boléro เป็นผลงานร่วมของ Ravel และ Benois โดยได้ตัดสินว่าเพลงนี้เป็น Public Domain (หมายถึง ผลงานชิ้นนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองลิขสิทธิ์อีกต่อไป และสามารถถูกใช้โดยสาธารณะได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของผลงานหรือทายาท)
เรื่องของลิขสิทธิ์ในยุโรปและประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มีอายุ 70 ปีหลังจากผู้แต่งเสียชีวิต ในกรณีนี้ Ravel เสียชีวิตในปี 1937 ดังนั้นลิขสิทธิ์เพลง Boléro จึงหมดอายุในปี 2007 อย่างไรก็ตามมีบางประเทศที่เพิ่มเวลาลิขสิทธิ์เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ลิขสิทธิ์ของ Boléro ในฝรั่งเศสหมดอายุในปี 2016
สุดท้ายนี้การตัดสินครั้งนี้ยืนยันว่า Maurice Ravel เป็นผู้แต่งบทประพันธ์ Boléro เพียงแค่ผู้เดียว และทำให้เพลงนี้ยังคงอยู่ในที่สาธารณะ แต่ทายาทของ Ravel ยังคงได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าของผลงานนี้อยู่เหมือนเดิม ซึ่ง Boléro เป็นหนึ่งในผลงานดนตรีที่ได้รับความนิยมที่สุดในศตวรรษที่ 20 ก็ว่าได้
ที่มาข้อมูล
Comments